เปิดลิสต์ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมี ป่วยตอนไหนก็หาซื้อได้ที่ร้านขายยา 24 ชั่วโมง
ไม่มีกำหนดอายุ

เปิดลิสต์ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมี ป่วยตอนไหนก็หาซื้อได้ที่ร้านขายยา 24 ชั่วโมง

การเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่เราเองไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งหากเป็นการเจ็บป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดหัว ท้องเสีย หรือจุกเสียดนั้น  สามารถบรรเทาอาการหรือรักษาเบื้องต้นได้เองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ด้วยยาสามัญประจำบ้าน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 นี้ การเดินทางออกไปข้างนอก ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ ดังนั้น การมียาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้านไว้อาจช่วยให้หลาย ๆ คนอุ่นใจได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธุรกิจร้านขายยามีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีร้านขายยาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น ร้านยาแผนปัจจุบัน ร้านสะดวกซื้อและร้านขายยา 24 ชั่วโมง ที่เปิดให้บริการและพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับทุกคนและทุกเวลา ในบทความนี้ได้ทำการรวบรวมรายการยาสามัญประจำบ้าน ทั้งที่เป็นยาพื้นฐานที่ต้องมีติดบ้าน ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยาสมุนไพร รวมไปถึงยารักษาบาดแผลสำหรับใช้ภายนอกมาให้ทุกคนได้ศึกษาและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง


สารบัญ ลิสต์ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมี


 

ยาสามัญประจำบ้าน คืออะไร

ยาสามัญประจำบ้าน คือ ยากลุ่มที่ใช้บรรเทาอาการเบื้องต้น เพื่อลดความเจ็บปวดให้กับร่างกาย เช่น บรรเทาอาการปวด บรรเทาอาการไอ บรรเทาอาการท้องเสีย เป็นต้น โดยยาเหล่านี้สามารถหาซื้อเองได้ที่ร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งของแพทย์ แต่ในการซื้อยาด้วยตนเองนั้น ควรสังเกตบนฉลากยาว่ามีคำว่า ยาสามัญประจำบ้าน และระบุวันสิ้นอายุ ของยาบนฉลากอย่างชัดเจนหรือไม่ โดยปกติแล้วยาสามัญประจำบ้านได้ถูกแบ่งไว้เป็น 2 ประเภทคือ ยาที่ใช้สำหรับภายใน ได้แก่ ยาสำหรับรับประทานและยาฉีด และยาที่ใช้สำหรับภายนอก ได้แก่ ยาทา ยาหยอด ยาดม หรือยาชำระล้างบาดแผล เป็นต้น โดยยาในแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดในการใช้งานและเลือกซื้อแตกต่างกันออกไป

กระเป๋า-ยาสามัญ-ประจำบ้าน

 

ก่อนเลือกซื้อยาสามัญประจำบ้าน ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

ถึงแม้ว่ายาสามัญประจำบ้านจะสามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาทั่วไป ร้านขายยา 24 ชั่วโมง และร้านสะดวกซื้อ แต่ยาก็มีหลากยี่ห้อหลายผู้ผลิต  เพื่อให้มั่นใจกับยานั้น ๆ ไม่ว่าจะด้านคุณภาพตามมาตรฐาน อย. หรือมีสรรพคุณในการรักษาและบรรเทาอาการได้  ควรศึกษาหาข้อมูลและตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ศึกษาข้อมูลและปรึกษาเภสัชกร

การปรึกษาเภสัชกรเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด สำหรับผู้ที่ต้องการหาซื้อยาสามัญประจำบ้านด้วยตนเอง โดยเภสัชกรจะช่วยแนะนำให้ว่าควรทานยาตัวไหนและควรปฏิบัติตัวอย่างไรในเบื้องต้น นอกจากนี้การหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการและตัวยาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทั้งทางอินเทอร์เน็ตและในหนังสือ ก็จะช่วยให้เรามีความรู้ ความเข้าใจในอาการและวิธีการรักษามากขึ้นด้วยฉลากยาที่ขึ้นทะเบียน  หากคุณจำเป็นต้องซื้อยาทานเองจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน สิ่งที่ควรสังเกตเป็นอย่างแรกคือ ฉลากยาที่ขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา หรือ อย. และควรมีข้อความกำกับว่าเป็น ยาสามัญประจำบ้านด้วย

  • วันผลิตและวันหมดอายุ

นอกจากการสังเกตเครื่องหมาย อย. แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างของการเลือกซื้อยาสามัญประจำบ้านด้วยตนเอง คือควรตรวจสอบวันผลิตและวันหมดอายุของยา ซึ่งหากเป็นยาที่ได้ซื้อมาติดบ้านไว้เป็นเวลานานแล้ว อย่างเช่น ยาบรรเทาอาการปวด ยาแก้แพ้ หรือยาบรรเทาอาการท้องเสีย ก่อนรับประทานควรตรวจดูวันหมดอายุอีกครั้ง นอกจากนั้น ต้องสังเกตลักษณะของยาอีกด้วย เพราะในกรณีที่เป็นยาเม็ด ตัวยาควรอยู่ในสภาพปกติ ไม่เปียกชื้น รูปทรงไม่บิดเบี้ยว มีสีที่สม่ำเสมอและไม่เปลี่ยนสีจากเดิม ถ้าหากเป็นยาน้ำก็ไม่ควรมีตะกอนแขวนลอยหรือสียาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นกัน

  • ประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหาร

สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหารบางชนิด ควรทำการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อสามัญประจำบ้านมาทานเองทุกครั้ง แต่ถ้าหากไม่มั่นใจว่าตนเองแพ้ยาหรือไม่ ก็ไม่ควรซื้อยาตามร้านค้าทั่วไปด้วยตนเอง ทั้งนี้ อาการแพ้ยาหรือแพ้อาหารจะเกิดขึ้นในเฉพาะบุคคลเท่านั้น และไม่สามารถบอกได้ว่าใครแพ้ยาตัวไหนหรืออาหารชนิดใด ดังนั้นเราจึงต้องคอยสังเกตอาการตัวเองหลังจากทานยาหรืออาหารชนิดนั้น ๆ ร่วมด้วย โดยปกติแล้วอาการแพ้มักจะแสดงออกหลังจากทานยาหรืออาหารไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าหากใครมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นคัน ก็ให้หยุดยาและไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแพ้ยาต่อไป

 

ซื้อ-ยาสามัญประจำบ้าน-กับ-เภสัชกร

ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้านช่วงโควิด

โรคโควิด – 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายที่สามารถแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านไปในสถานที่ต่าง ๆ ทำให้การมียาสามัญประจำบ้านติดไว้ที่บ้านเป็นเรื่องสำคัญ และเราได้รวบรวมรายการยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้านไว้ ดังนี้

ยา-พาราเซตามอล

1. ยาแก้ปวด ลดไข้ 

ยาพาราเซตามอล เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้ได้ นิยมใช้ในการรักษาอาการปวดระดับไม่รุนแรง  อย่างเช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อ เป็นต้น โดยยาชนิดนี้จัดเป็น 1 ในรายการยาสามัญประจำบ้าน เพราะสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาของแพทย์ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยมีวิธีการรับประทานคือ กินครั้งละ 1-2 เม็ด ระยะเวลาห่างกันอย่างน้อยครั้งละ 4 ชั่วโมง และไม่ควรกินเกินวันละ 4,000 มิลลิกรัมหรือ 8 เม็ดต่อวัน

ยา-น้ำ-แก้ไอ

2. ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ

ยาบรรเทาอาการไอและละลายเสมหะ มีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำ แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้ยาน้ำในการบรรเทาอาการไอ โดยเฉพาะยาแก้ไอน้ำดำ เพราะมีตัวยาที่สำคัญ คือ ฝิ่นที่มีฤทธิ์ระงับการไอ ชะเอมที่มีฤทธิ์ขับเสมหะและช่วยทำให้ชุ่มคอ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้กับเด็ก และสตรีมีครรภ์ และไม่ควรทานยาแก้ไอน้ำดำติดต่อกันเกิน 3 วัน นอกจากนั้นถ้าหากมีการไอมากกว่า 1-2 สัปดาห์ หรือทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

ยา-เม็ด-แก้แพ้-แก้หวัด-ลดน้ำมูก

3. ยาแก้แพ้ แก้หวัด ลดน้ำมูก

ยาแก้แพ้ใช้สำหรับบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อากาศ ฝุ่นละออง ควัน ผื่นลมพิษ รวมถึงใช้เพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลอีกด้วย โดยการทานยาแก้แพ้ควรทานห่างกัน 4 – 6 ชั่วโมง และไม่ควรทานในขณะที่ต้องขับรถหรือทำงาน เนื่องจากยาชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการง่วงนอน และในกรณีผู้แพ้อาหาร ไม่แนะนำให้ทานยาแก้แพ้ก่อนทานอาหารที่ตนเองแพ้ เพราะจะไปกดอาการแพ้แค่ในช่วงแรก และเมื่อยาหมดฤทธิ์อาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงกว่าเดิมได้

ทา-ยา-แก้-ผื่นคัน

4. ยาทาแก้ผื่นคัน 

หลาย ๆ คนมักนิยมใช้คาลาไมน์โลชัน หรือยาคาลาไมน์ ที่เป็นยาทาในการแก้ผื่นคัน ที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคันตามผิวหนัง แต่ยาที่ใช้เพื่อแก้อาการผื่นคันมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบยาทาน แบบครีม หรือแบบโลชัน โดยเลือกใช้ยาแก้ผื่นคันตามอาการ เช่น อาการผื่นคันจากเชื้อรา หรือการอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นก่อนทำการซื้อยาแก้ผื่นคัน เราต้องรู้สาเหตุของอาการผื่นคันนั้นก่อน ซึ่งถ้าหากใครไม่มั่นใจว่าอาการของตนเองเกิดจากสาเหตุอะไรก็สามารถปรึกษากับเภสัชกรหรือคุณหมอก่อนได้ เพื่อที่จะเลือกซื้อยาได้ถูกกับอาการ

ยา-ฟ้าทะลายโจร-แบบ-เม็ด

5. ยาเม็ดฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดไข้ อาการไอ และเจ็บคอ โดยยาเม็ดฟ้าทะลายโจรนั้นได้ทำมาในรูปแบบแคปซูล จึงทำให้ไม่รู้สึกถึงรสชาติขมและสามารถทานได้ง่ายขึ้น แม้ฟ้าทะลายโจรจะไม่สามารถใช้ป้องกันโรคโควิด-19ได้โดยตรง แต่ก็สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสและใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้ โดยวิธีการรับประทาน คือ วันละ 180 มิลลิกรัม จำนวน 3-4 ครั้ง ไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วันต่อสัปดาห์ และไม่ควรทานต่อเนื่องเกิน 3 เดือน เพราะอาจส่งผลให้แขนขาอ่อนแรงได้ ดังนั้น ในการใช้ยาตัวนี้ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ผง-เกลือแร่-แก้-ท้องเสีย

6. ผงเกลือแร่ ORS (Oral Rehydration Salt)

เมื่อเกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ดังนั้นเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำและเกลือแร่ให้กับร่างกายจึงควรทำการจิบเกลือแร่เพื่อให้อาการดีขึ้น และมีข้อควรระวังคือไม่ควรดื่มเกลือแร่หมดภายในครั้งเดียว แต่ควรค่อย ๆ จิบ เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมเกลือแร่ได้ และแนะนำให้ใช้เป็นชนิดผงเกลือแร่ ORS เท่านั้น เพราะเป็นเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย ที่มีส่วนประกอบสำคัญและสรรพคุณต่างจากเกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย ที่นอกจากจะไม่ช่วยในการบรรเทาอาการท้องเสียแล้ว ยังทำให้มีปริมาณน้ำตาลในร่างกายสูงขึ้นด้วย

ทาน-ยา-แก้-ท้องอืด-ท้องเฟ้อ

7. ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด

อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ส่วนใหญ่เกิดจากอาหารไม่ย่อย หรือทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป  นอกจากจะมีอาการจุกเสียดแล้ว อาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย โดยมียาที่นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ได้แก่ ยาธาตุน้ำแดง ที่ใช้เพื่อขับแก๊สในกระเพาะอาหาร และยาธาตุน้ำขาวที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนในกระเพาะอาหาร ดังนั้นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จึงเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้านไว้  นอกจากนั้นเมื่อเปิดใช้ยาแล้วควรปิดฝาให้สนิท และไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน

ยา-สำหรับ-ล้างแผล-และ-ใส่แผล

8. ยาใส่แผลและล้างแผล

ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้านไว้สำหรับใช้ภายนอก อย่างกลุ่มยาที่ไว้ใช้สำหรับทำแผล ประกอบไปด้วย 

1. น้ำเกลือล้างแผล ใช้สำหรับล้างทำความสะอาดแผล เพื่อชะล้างสิ่งสกปรก ก่อนทำการใส่ยารักษาแผล และเมื่อเปิดใช้งานแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือน
2. ยาใส่แผล ใช้สำหรับรักษาแผลภายนอกเบื้องต้น เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน, ทิงเจอร์ไทเมอร์โรซอล, ยาแดง และยาเหลือง เป็นต้น และเมื่อเปิดใช้งานแล้วควรปิดฝาให้สนิทและไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน

ยา-เม็ด-ถ่าย-พยาธิ

9. ยาถ่ายพยาธิ

พยาธิคือปรสิตชนิดหนึ่งที่สามารถอาศัยอยู่ภายในร่างกายของคนเรา โดยเข้าสู่ร่างกายได้ตั้งแต่ยังเป็นไข่พยาธิ ผ่านการปนเปื้อนในอาหาร น้ำ อากาศ สิ่งปฏิกูลสัตว์ รวมทั้งสิ่งของที่เสี่ยงมีไข่พยาธิติดอยู่ เช่น ที่รองนั่งชักโครก ลูกบิดประตู เป็นต้น เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ไข่พยาธิจะฟักตัวและเพิ่มจำนวนขึ้น พบได้มากในระบบทางเดินอาหาร พยาธิเหล่านี้จะแย่งสารอาหารที่รับประทานเข้าไป จนทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และสำหรับการใช้ยาถ่ายพยาธินั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิ ถึงจะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีแต่ก็ควรทำการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยาถ่ายพยาธิด้วยตนเอง

ยา-สำหรับ-หยอดตา

10. ยาหยอดตา

ยาหยอดตาเป็นอีก 1 ในรายการยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้านไว้ เพราะมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองตา ตาแดง หรือตาอักเสบ และสำหรับใครที่มีอาการตาแห้งอยู่บ่อย ๆ ควรใช้ยาหยอดตาแบบน้ำตาเทียม และหลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดตาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยกเว้นในบางกรณีที่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์แล้วว่าสามารถใช้ได้

 

เจล-แอลกอฮอล์-และ-หน้ากาก-อนามัย

อุปกรณ์การแพทย์ที่ควรมีติดบ้านช่วงสถานการณ์โควิด-19

นอกจากลุ่มยาสามัญประจำบ้านพื้นฐาน ตามที่ได้แนะนำไปเบื้องต้นแล้ว แต่ในปัจจุบันนั้นมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่มีความเสี่ยงทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้นการป้องกันและดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเราได้รวบรวมรายการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ควรมีติดบ้านไว้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีรายการดังต่อไปนี้

ฉีด-สเปรย์-แอลกอฮอล์

1. น้ำยาแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค

จากงานวิจัยต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้ว่าแอลกอฮอล์สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้ เมื่อใช้ในปริมาณและความเข้มข้นที่เหมาะสม ซึ่งความเข้มข้นที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 60 – 80% โดยในปัจจุบันน้ำยาแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อก็มีให้เลือกซื้อหลากสูตรหลายยี่ห้อ และหาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยาทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายยา 24 ชั่วโมง  โดยน้ำยาแอลกอฮอล์มีทั้งสำหรับทำความสะอาดสิ่งของ พื้น หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่มาในรูปแบบขวดที่ต้องทำการผสมน้ำก่อนใช้ หรือสำหรับทำความสะอาดร่างกาย อย่างเช่น สเปรย์พกพา ที่เหมาะกับการพกติดตัวเมื่อต้องออกไปข้างนอก เป็นต้น

ล้างมือ-ด้วย-เจล-แอลกอฮอล์

2.เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

สำหรับวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดในการป้องกันเชื้อโรคและเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทุกคนสามารถทำได้ คือการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งควรมีความเข้มข้น 75% ขึ้นไป  และผ่านการรับรองจาก อย. รวมถึงสภาพของบรรจุภัณฑ์ที่ควรอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน และข้อควรระวังในการใช้เจลแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ที่แพ้แอลกอฮอล์ควรทำการปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะแอลกอฮอล์อาจทำให้มือแห้งหรือลอก จนทำให้เกิดอาการแพ้และผื่นขึ้นได้

หน้า-กาก-อนามัย

3.หน้ากากอนามัย

สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาคือหน้ากากอนามัย ที่ตอนนี้กลายเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนต้องมีติดกระเป๋า และต้องสวมใส่ทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน โดยทางการแพทย์แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยชนิด N-95 เนื่องจากสามารถป้องกันโรคโควิด-19ได้มากถึง 95%  แต่หน้ากากอนามัยชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น สามารถใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ชนิดใช้แล้วทิ้งแทนได้เช่นกัน แต่การใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้งควรเลือกใช้ที่มีขนาดพอดีและแนบสนิทไปกับใบหน้า เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา และถ้าหากไม่มั่นใจก็สามารถใส่ 2 ชั้นได้ด้วย

เครื่อง-วัด-ระดับ-ออกซิเจน-ปลายนิ้ว

4.เครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว

โรคโควิด-19 เป็นสิ่งใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะมีผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการเป็นจำนวนมาก จึงทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลว่าตนเองติดเชื้อแล้วหรือยัง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจอาจเลือกซื้อเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมาติดบ้านไว้ได้  เพราะถ้าหากเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายแล้ว ส่วนใหญ่มักจะไปก่อกวนระบบทางเดินหายใจและปอดจนทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยประเมินในเบื้องต้นได้ว่าเราติดเชื้อแล้วหรือยัง คือการอ่านค่าจากเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว โดยมีให้เลือกซื้อหลากหลายราคา ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันบาท และสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือร้านขายยา 24 ชั่วโมงที่มีเภสัชกรคอยให้คำแนะนำในการเลือกซื้อ

กล่อง-อุปกรณ์-สำหรับ-ทำแผล

5.อุปกรณ์สำคัญสำหรับทำแผล

การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนานั้น นอกจากจะสามารถแพร่กระจายเชื้อผ่านทางน้ำลายและละอองในอากาศแล้ว ยังสามารถแพร่เชื้อผ่านทางของเหลวในร่างกายอย่างเลือดได้อีกด้วย และสำหรับใครที่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรังหรือมีบาดแผล จึงควรมีชุดหรืออุปกรณ์สำหรับทำแผลส่วนตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจากคนอื่นหรือแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่คนอื่น ๆ ได้

ถุงมือ-อนามัย

6.ถุงมืออนามัย

เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ควรมีติดบ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเมื่อไหร่เราหรือคนในบ้านจะมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา และถ้าหากเกิดกรณีที่เราหรือคนในบ้านติดโรคโควิด-19 และต้องรักษาตัวในบ้าน อาจทำให้ของใช้ส่วนตัวรวมถึงขยะ และของเสียจากผู้ป่วยมีเชื้อโรคปะปนมาด้วย ดังนั้น การหยิบจับด้วยถุงมืออนามัยจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้

ถุง-สำหรับ-ใส่-ขยะติดเชื้อ

7.ถุงสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ

ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ป่วยโควิดหรือไม่ การแยกประเภทขยะต่าง ๆ และขยะที่ปนเปื้อนเชื้อโรคนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคให้พนักงานเก็บขยะ รวมไปถึงคนที่มีอาชีพคัดแยกขยะหรือเก็บของเก่า นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีและเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมที่ทุกคนควรทำอีกด้วย

 

การเก็บรักษายาสามัญประจำบ้านที่ถูกต้องและปลอดภัย

หากพูดถึงเรื่องการเก็บรักษายาสามัญประจำบ้าน หลายคนคงคิดว่าแค่เก็บในตู้ยาสามัญประจำบ้านก็ได้ แต่ว่ายาแต่ละชนิดนั้นมีรายละเอียดในการเก็บรักษาที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรเก็บรักษายาแต่ละชนิดให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อรักษาสภาพของยาให้คงสรรพคุณและประสิทธิภาพดีเหมือนเดิม

  • การจำแนกและแยกประเภทยา

ประเภทของยาสามัญประจำบ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือยาใช้ภายใน หรือยาสำหรับทาน ไม่ว่าจะเป็นยาน้ำหรือยาเม็ด และถ้าหากมีช่องใส่ยาที่สามารถแบ่งสัดส่วนได้ก็ควรทำการแบ่งสัดส่วนกันอย่างชัดเจน เพื่อให้หาและหยิบได้ง่าย และอีกประเภทคือ ยาใช้ภายนอก เช่น ยาล้างแผล ใส่แผล รวมถึงเวชภัณฑ์ เช่น ผ้าก็อซ ผ้าพันแผล สำลี เป็นต้น ซึ่งแนะนำให้แยกระหว่างตัวยาและเวชภัณฑ์ไว้คนละช่องเช่นกัน เพื่อให้สามารถหยิบใช้ได้ง่าย และป้องกันยาหกเลอะใส่เวชภัณฑ์อีกด้วย 

  • สถานที่จัดเก็บ

ตู้ยาสามัญประจำบ้านควรติดตั้งในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย ไม่สูงหรือต่ำเกินไป และควรติดตั้งให้พ้นจากมือเด็กเพื่อป้องกันการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กที่อาจจะหยิบยามาเล่นหรือเอามากิน ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้

ปรึกษา-เภสัชกร-ก่อน-ซื้อ-ยา

  • ข้อควรหลีกเลี่ยง

1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป โดยยาแต่ละชนิดจะมีข้อห้ามในการใช้ อย่างเช่น กลุ่มยาแก้ปวดที่ไม่ควรกินติดต่อกันนาน 5 - 7 วัน หรือยาแก้ไอที่ไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 5 วัน เป็นต้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนทานยาแต่ละชนิด เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
2. สังเกตวันหมดอายุของยา ซึ่งหากเป็นยาสามัญประจำบ้านที่เก็บไว้นานแล้ว ควรตรวจสอบวันหมดอายุของยาก่อนเสมอ และควรสังเกตด้วยว่ายานั้นมีการเปิดใช้งานไปแล้วหรือยัง อย่างเช่น ยาน้ำหรือยาใช้ภายนอก เพราะถ้าหากมีการเปิดใช้แล้วก็ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป เพราะอาจจะทำให้ตัวยาเสื่อมคุณภาพได้ 
3. หลีกเลี่ยงยาที่มีสภาพผิดแปลกไปจากเดิม เช่น ยาเม็ดมีสีหรือรูปร่างเปลี่ยนไป หรือยาน้ำมีตะกอนแขวนลอยหรือมีสีเปลี่ยนไป เป็นต้น 
4. ไม่ควรกินยาสามัญประจำบ้านในการรักษาโรคเรื้อรังชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธีและใช้ยาในการรักษาอย่างถูกต้อง

ถ้าหากคุณกำลังมองหาร้านขายยา 24 ชั่วโมง หรือแหล่งซื้อยาสามัญประจำบ้าน ที่มียาและเวชภัณฑ์ให้เลือกซื้ออย่างครบครัน สามารถจดรายการยาสามัญประจำบ้านที่เราได้แนะนำไปและมาหาซื้อได้ที่ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา ในร้าน Watsons, ร้าน Boots และร้าน B more ชั้น 1 เปิดให้บริการเวลา 11:00 - 22:00น. หรือร้าน Pharmax24 ชั้น B มีเภสัชกรพร้อมให้คำแนะนำตลอดการให้บริการ 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทุกคน ที่ไม่ว่าจะเจ็บป่วยเวลาไหนก็สามารถหาซื้อยาได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคภัยหรืออันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง 
 

Related