ฟื้นฟูร่างกาย หลังหายจากโรคโควิด-19 และทำความเข้าใจกับลองโควิด
ไม่มีกำหนดอายุ

ฟื้นฟูร่างกาย หลังหายจากโรคโควิด-19 และทำความเข้าใจกับลองโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ทั่วโลกและประเทศไทยของเรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ ทุกท่านพอจะทราบดีว่าเชื้อไวรัสโคโรนา มีความรุนแรงมากแค่ไหน เชื้อไวรัสที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปแล้วมากมาย แม้จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สามารถรักษาหายและกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ แต่กว่าที่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติต้องมีการฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกวิธีด้วย บทความนี้จะมาแนะนำถึงวิธีการฟื้นฟูร่างกายหลังหายจากโรคโควิด-19 พร้อมทั้งมาทำความรู้จักกับอาการลองโควิด (Long Covid) อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นระยะเวลานาน


สารบัญ ฟื้นฟูร่างกาย หลังหายจากโรคโควิด-19


 

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่รักษาโรคโควิด-19

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่รักษาโรคโควิด-19 หายและกลับไปพักฟื้นที่บ้าน

สำนักการแพทย์ (MSD Information Literacy Center : MIL Center) กทม. ได้ให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 แล้วกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ไว้ดังนี้

  • ให้สังเกตอาการอย่างน้อย 10-14 วัน ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดและเว้นระยะห่างทางสังคม
  • รับประทานอาหารปรุงสุกและสะอาด ทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ โดยให้เน้นอาหารที่ย่อยง่าย
  • แนะนำให้ดื่มน้ำสะอาดเพียงพอวันละประมาณ 2-2.5 ลิตร สำหรับผู้สูงอายุแนะนำให้ดื่มน้ำประมาณ 1-2 ลิตร
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเข้านอนให้เร็วขึ้น
  • หลังจากขับถ่าย ปัสสาวะหรือทำธุระส่วนตัวเสร็จให้ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหรือล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ เคลื่อนไหวร่างกายตามความเหมาะสม ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
  • ควรออกไปรับแสงแดดบ้าง เช่น แสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้า หรือตอนเย็นประมาณ 10-15 นาที

 

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงฟื้นฟูร่างกาย

  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร เช่น ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
  • เมื่อกลับไปทำงานยังคงต้องเฝ้าระวัง เน้นมาตรการป้องกันตัวเช่นเดิม งดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่ควรใช้สายตามากเกินไป ให้พักสายตาจากโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์รวมถึงโทรทัศน์
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และยาเสพติดทุกชนิด

 

การฟื้นฟูปอดหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนา

การฟื้นฟูปอดหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนา

โควิด-19 มีผลกระทบโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจ แม้ว่าจะรักษาหายแล้ว แต่ปอดอาจทิ้งร่องรอยไว้เป็นพังผืดหรือแผลเป็นทำให้ปอดมีสมรรถภาพลดลง อาจรู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่สดชื่นหรือรู้สึกหายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่ดีเหมือนเดิม ดังนั้น หลังจากรักษาหายแล้วควรมีการฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดอย่างถูกวิธี

บริหารปอดด้วย Triflow

บริหารปอดด้วย Triflow

การบริหารปอดจำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการพักฟื้นตัวเรียกว่าเป็นกลยุทธ์การฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดที่ได้ผลดี โดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เรียกว่า Triflow แพทย์จะให้ดูดลูกปิงปองทั้งหมด 3 ลูก ใน 3 ช่อง ปิงปองจะลอยขึ้นกี่ลูกนั้น อยู่ที่ปริมาณลมที่สูดเข้าไป ยิ่งสูดลมเข้าไปเยอะ ลูกปิงปองจะลอยขึ้นเยอะ การสูดลมเข้าไปโดยใช้เครื่องดังกล่าวถือเป็นเทคนิคการบริหารปอดรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ปอดขยายเต็มที่ ช่วยให้ปอดมีความยืดหยุ่นและค่อยๆ ฟื้นตัวได้

ฝึกการหายใจ

ฝึกการหายใจ (Breathing Exercise) จำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัว โดยให้ออกแรงหายใจเข้าทางจมูกจนสุดและควบคุมลมที่การหายใจออกทางปากช้าๆ หรือพูดคำว่า “อู” ยาวและช้า จนกระทั่งลมหมดปอดแล้วหายใจเข้าไปให้เต็มปอดช้าๆ เช่นเดิม เนื่องจากพังผืดจะทำให้ปอดแข็ง ดังนั้น เมื่อพังผืดที่แข็งได้ขยับบ่อยๆ จะยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้เนื้อปอดค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ออกกำลังกายเบาๆ

ออกกำลังกายเบาๆ

เพิ่มสมรรถภาพของปอดด้วยการออกกำลังกายเบาๆ สามารถทำได้สัปดาห์ที่ 3 และ 4 เป็นต้นไป ควรออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น แต่เน้นที่การออกกำลังกายเบาๆ ไม่หักโหม เช่น ลุกเดินบ่อยๆ เมื่อร่างกายเริ่มชินแล้วค่อยเปลี่ยนมาออกกำลังกายหนักขึ้น อาจเดินให้ไวขึ้นหรือวิ่งจ๊อกกิ้งเบาๆได้

 

ลองโควิด LONG COVID

‘ลองโควิด’ (LONG COVID)

ระดับความรุนแรงของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ละคน แสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเมื่อหายจากการติดเชื้อ การฟื้นฟูร่างกายของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปด้วย บางคนหายจากการติดเชื้อสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ในขณะที่บางคนแม้ว่าตอนติดเชื้อจะไม่ได้มีอาการหนัก แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเข้าสู่ภาวะสุขภาพที่เคยแข็งแรงเช่นเดิม ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานหลายวัน หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ภาวะนี้คือหนึ่งในอาการที่เรียกว่า ‘ลองโควิด’ (LONG COVID)

รู้จักกับลองโควิด

‘ลองโควิด’ (LONG COVID) เป็นอาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนา ในระยะยาว เนื่องจากในขณะที่ป่วย ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีบางอย่างขึ้นมา เพื่อไปจับกับโปรตีนเซลล์ของอวัยวะบางส่วนภายในร่างกายและไปทำลายอวัยวะในส่วนต่างๆ ด้วย ลองโควิด อาการเจ็บป่วยไม่มีลักษณะตายตัวสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกายตั้งแต่ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด กลุ่มเสี่ยงที่อาจพบอาการลองโควิดคือผู้ที่มีภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำและผู้ที่ในขณะติดเชื้อมีอาการรุนแรง กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดลองโควิดได้มากกว่ากลุ่มที่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ

อาการลองโควิดที่พบบ่อย

  • หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก ใจสั่น
  • อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดหัวหรือเวียนศีรษะ
  • นอนไม่หลับ ความจำไม่ดี สมองไม่สดชื่น
  • มีอาการปวดตามข้อ หรือรู้สึกจี๊ดที่บริเวณปลายเท้าและมือ
  • รู้สึกมีไข้ตลอดเวลา
  • มีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล

หากสงสัยว่าเป็น "ลอง โควิด" ควรทำอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยรักษาหายจากโรคโควิด-19 แล้ว ในขณะที่กลับบ้านไปพักฟื้น หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ฯลฯ สงสัยว่าจะมีภาวะลอง โควิด ควรมาตรวจแยกโรคว่ามีภาวะเร่งด่วนที่ต้องดูแลรักษาหรือไม่ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเครียด อ่อนล้าหรือวิตกกังวล สามารถติดต่อพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อฟื้นฟูจิตใจได้ แต่หากเป็นอาการลองโควิดที่หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอกมากต้องได้รับออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจ ควรได้รับการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจร่วมกับทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู

 

ปรับไลฟ์สไตล์หลังหายจากโรคโควิด-19

ปรับไลฟ์สไตล์หลังหายจากโรคโควิด-19

หลังหายจากโรคโควิด-19 ควรมีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เช่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานอาหารที่ปรุงสุก ออกกำลังกายเป็นประจำ ดูแลที่พักอาศัยให้สะอาด สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มหรือไม่ไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว ควรสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากรู้สึกเหนื่อยง่ายเป็นไข้บ่อยไอหรือร่างกายผิดปกติ มีอาการใดก็ตามติดต่อกันหลายวัน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

Related