5 พื้นฐานวิธีการเล่น และกติกาฟุตซอลแบบเข้าใจง่าย ฝึกได้ด้วยตัวเอง!
ไม่มีกำหนดอายุ

5 พื้นฐานวิธีการเล่น และกติกาฟุตซอลแบบเข้าใจง่าย ฝึกได้ด้วยตัวเอง!

ฟุตซอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ ซึ่งมีลักษณะการเล่นคล้ายกับฟุตบอล แต่มีจุดแตกต่างคือการเล่นในร่ม นอกจากนี้ ในประเทศไทยฟุตซอลก็ได้รับความนิยมและเป็นที่แพร่หลายเช่นกัน ซึ่งหลายคนให้ความสนใจกีฬานี้เป็นอย่างมาก เพราะทั้งมีความสนุกสนาน และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายได้ รวมถึง ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ ได้อีกด้วย สำหรับใครที่สนใจวิธีการเล่นฟุตซอลนั้นก็ไม่ยากเลย เพียงฝึกทักษะการเล่นฟุตซอลตามบทความนี้ก็สามารถฟอร์มทีมกับเพื่อนๆ แล้วหาสถานที่เล่นได้เลย


สารบัญ 5 พื้นฐานวิธีการเล่นฟุตซอลแบบเข้าใจง่าย


 

พื้นฐาน-การ-เล่น-ฟุตซอล

ประวัติ ที่มา และความหมายของฟุตซอล

คำว่า “ฟุตซอล (Futsal)” เป็นคำที่มีจาก fútbol sala หรือ fútbol de salón ในภาษาสเปน หรือ คำว่า futebol de salão ในภาษาโปรตุเกส ที่มีความหมายว่า “กีฬาฟุตบอลที่เล่นในร่ม” ซึ่งฟุตซอลได้รับความนิยมมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ ทำให้มีการจัดการแข่งขันอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในประเทศบราซิล 

  • ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) ฮวน คาร์ลอส เซอเรียนีได้นำกีฬาฟุตซอลไปเล่นในสมาคม YMCA ซึ่งเป็นสถานที่เล่นบาสเกตบอล
  • ค.ศ. 1932 (พ.ศ.2475) โรเจอร์ เกรน ได้บัญญัติกฎสำหรับวิธีการเล่นฟุตซอลและใช้มาจนถึงปัจจุบัน
  • ค.ศ. 1965 (พ.ศ.2508) มีการจัดการแข่งขันฟุตซอลครั้งแรกขึ้นในอเมริกาใต้ 
  • ค.ศ. 1982 (พ.ศ.2525) มีการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกอย่างไม่เป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก ที่กรุงเซาเปาโล ประเทศบราซิล ซึ่งในครั้งนี้บราซิลได้แชมป์ไปครอง และมีการจัดการแข่งขันแบบไม่เป็นทางการอีกสองครั้งในปี ค.ศ. 1985 และ ปี ค.ศ. 1988
  • ค.ศ. 1989 (พ.ศ.2532) สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ได้เข้าไปดูแลการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ซึ่งถือเป็นการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยจัดขึ้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และการแข่งขันฟุตซอลก็ถูกจัดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ประวัติฟุตซอลในประเทศไทย

การเล่นกีฬาฟุตซอลในประเทศไทยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มเล่นในปีใด แต่มีกีฬาที่เรียกว่า “ฟุตบอลโกลหนู” ซึ่งมีลักษณะการเล่นคล้ายฟุตซอล โดยมีจุดแตกต่างกันที่มีขนาดของสถานที่เล่นเล็กกว่าและจำนวนผู้เล่นน้อยกว่า ส่วนลูกบอลที่ใช้จะตามแต่ที่หาได้ ทั้งนี้ มีจุดประสงค์ในการเล่นเพื่อออกกำลังกาย มากกว่าการซ้อมเพื่อการแข่งขัน สำหรับประวัติฟุตซอลไทย ที่มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการนั้น มีดังนี้

  • พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) มีการจัดการแข่งขันฟุตซอลที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งสโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ
  • พ.ศ. 2541 (ค.ศ.1998) มีการจัดการแข่งขันขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยสโมสรการทหารท่าเรือแห่งประเทศไทยสามารถรักษาแชมป์ได้อีกสมัยหนึ่ง
  • พ.ศ. 2543 (ค.ศ.2000) มีการจัดการแข่งขันฟุตซอลเป็นครั้งที่ 3 ในครั้งนี้ทีมสโมสรฟุตบอลทหารอากาศคว้าแชมป์ไปครอง โดยล้มแชมป์เก่าสองสมัยอย่างสโมสรการทหารท่าเรือแห่งประเทศไทยได้สำเร็จ นอกจากนี้ ในปีเดียวกันประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งไทยได้อันดับที่ 3 จึงมีสิทธิ์เดินทางไปแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกรอบสุดท้าย ณ ประเทศกัวเตมาลาด้วย รวมไปถึง ในปีเดียวกันนี้ มีการจัดการแข่งขันในระดับเยาวชน 18 ปี เป็นครั้งแรกอีกด้วย
  • พ.ศ. 2544 (ค.ศ.2001) มีการจัดการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ทั้งระดับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ซึ่งทีมชาติไทยสร้างผลงานด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศระดับอาเซียน ที่ประเทศมาเลเซีย และรางวัลชนะเลิศระดับดิวิชั่น 2 ไทเกอร์คัพ ที่ประเทศสิงคโปร์มาได้
  • พ.ศ. 2547 (ค.ศ.2004) ทีมชาติไทยคว้ารางวัลอันดับที่ 3 ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียมาได้ จึงได้สิทธิ์เดินทางไปแข่งต่อในรอบสุดท้ายที่ประเทศไต้หวัน 

 

5-ทักษะ-การเล่น-ฟุตซอล

ฟุตบอลและฟุตซอลต่างกันอย่างไร?

หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อของกีฬาฟุตบอลมากกว่า แต่ว่าทั้ง 2 กีฬานี้ก็มีกติการหลักๆ คือเตะบอลให้เข้าประตูเหมือนกันนี่ แล้วฟุตบอลกับฟุตซอลแตกต่างมีความแตกต่างอย่างไรกันแน่นะ?

แม้ว่ากีฬาทั้ง 2 อย่างนี้จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่จริงๆ แล้วมีจุดที่แตกต่างกันพอสมควรเลยทีเดียว โดยความแตกต่างของฟุตซอลและฟุตบอลนั้นมีด้วยกันดังนี้

  • จำนวนผู้เล่นและตำแหน่ง

จำนวนผู้เล่นของฟุตบอลนั้นจะมีด้วยกันทั้งหมด 11 คน (ไม่รวมผู้รักษาประตู 1 คน) และจะมีการวางตำแหน่งต่างๆ เอาไว้อย่างชัดเจน แต่สำหรับฟุตซอลนั้นจะมีผู้เล่นเพียง 5 คน (ไม่รวมผู้รักษาประตู 1 คน) โดยไม่ต้องกำหนดตำแหน่งชัดเจน สามารถเล่นสลับตำแหน่งกันได้

  • ขนาดของสนาม

สนามฟุตบอลนั้นจะมีขนาดของสนามอยู่ที่ ความกว้างตั้งแต่ 45 เมตร – 90 เมตร และความยาวอยู่ที่ 100 เมตร – 110 เมตร โดยจะเล่นในสนามหญ้า หรือสนามหญ้าเทียม

แต่สำหรับฟุตซอลนั้นจะมีขนาดสนามที่ค่อนข้างเล็กกว่า โดยจะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ 38 เมตร – 42 เมตร และมีขนาดความยาวที่ 18 เมตร – 22 เมตร ซึ่งจะเล่นกันบนสนามพื้นปูน หรือพื้นยางพารา

แนะนำ: สำหรับใครที่กำลังมองหาสนามเล่นฟุตซอลที่เดินทางสะดวก ติดรถไฟฟ้า และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สามารถมาใช้บริการได้ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >>> สนามฟุตซอล The Street Arena

  • ขนาดของลูกบอล

ขนาดลูกบอลสำหรับเล่นฟุตบอลจะใช้บอลเบอร์ 5 ส่วนฟุตบอลนั้นจะใช้บอลเบอร์ 4 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ขนาดของประตู (โกล) นั้นจะมีขนาดเท่ากัน คือ 300 x 135 x 200 เซ็นติเมตร (กว้าง x ยาว x สูง)

  • กติกา

กติการการเล่นฟุตซอลนั้นจะมีข้อจำกัดน้อยกว่าฟุตบอลพอสมควร ซึ่งจะมีความแตกต่างกันดังนี้

  1. ฟุตซอลจะไม่มีการเช็คตำแหน่งล้ำหน้า
  2. ฟุตบอลสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ 3 คน แต่ฟุตซอลนั้นสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ไม่จำกัด
  3. เวลาในการแข่งฟุตลจะอยู่ที่ 90 นาที (รอบละ 45 นาที) แต่สำหรับฟุตซอลนั้นจะอยู่ที่ 40 นาทีเท่านั้น (รอบละ 20 นาที)

 

รู้จักกับ 5 ทักษะการเล่นฟุตซอล

ฟุตซอลเป็นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายแทบจะทุกส่วน แถมยังต้องมีไหวพริบที่ดีในระหว่างการแข่งอีกด้วย การเริ่มต้นฝึกทักษะการเล่นฟุตซอล นอกจากจะช่วยให้เล่นฟุตซอลเก่งขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วในการเล่น เมื่อมีทักษะการเล่นฟุตซอลที่แม่นยำ จะช่วยให้เข้าใจการเล่นมากขึ้น และสามารถพัฒนาศักยภาพการเล่นในด้านอื่นๆ ให้ดีขึ้นตามไปด้วยได้ ซึ่งในการเล่นฟุตซอลมี 5 ทักษะหลักๆ ดังนี้

  • ทักษะการเลี้ยงบอล

ทักษะในการเลี้ยงบอลเป็นทักษะการเล่นฟุตซอลที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เล่นมีความชำนาญในการเล่นมากน้อยเพียงใด ซึ่งทักษะในการเลี้ยงบอลมีเป้าหมาย เพื่อหลบหลีกหรือหลอกล่อฝั่งตรงข้าม โดยต้องครอบครองบอลไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อที่จะหาโอกาสทำประตู ซึ่งทักษะการเลี้ยงบอลที่ควรฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. การเลี้ยงบอลด้วยฝ่าเท้า เป็นการเลี้ยงบอลเพื่อเปลี่ยนทิศทาง สามารถเลี้ยงบอลไปได้ทุกทิศ ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง โดยใช้ฝ่าเท้าข้างที่ถนัดแตะลูกบอลด้านบน แล้วดึงลูกบอลไปข้างหน้าพร้อมบิดตัวบังในระหว่างเคลื่อนที่ เพื่อเลี้ยงลูกบอลต่อหรือจะยิงก็ได้
  2. การเลี้ยงบอลด้วยเท้าด้านใน เป็นการเลี้ยงบอลเพื่อหลอกล่อ หรือหาโอกาสในการส่งบอลต่อให้เพื่อน โดยใช้เท้าด้านในข้างที่สะดวกเลี้ยงบอลและควบคุมลูก
  3. การเลี้ยงบอลด้วยเท้าด้านนอก เป็นการเลี้ยงบอลโดยใช้เท้าด้านนอก ให้ปลายเท้าขนานกับลูกบอล 

ทั้งนี้ ทักษะการเลี้ยงบอลนั้นจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดความชำนาญ โดยการเลี้ยงบอลที่ดีต้องไม่เกร็งลำตัวส่วนบน และใช้การย่อเข่า เพื่อสร้างความสมดุล 

  • ทักษะการรับ - ส่งบอล

ทักษะในการรับ - ส่งลูกเป็นทักษะการเล่นฟุตซอลที่สำคัญ โดยการส่งบอลสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ ดังนี้

  1. การส่งลูกเรียด เป็นการส่งลูกในระยะใกล้ ซึ่งผู้เล่นต้องวางเท้าหลักให้อยู่ห่างจากลูกฟุตซอล โดยมีระยะประมาณ 1 ฝ่ามือ เพื่อให้ลูกบอลเรียดไปกับพื้น
  2. การส่งลูกโด่ง มีลักษณะการวางเท้าไม่ต่างจากแบบเรียด แต่ใช้เท้าข้างที่ถนัดช้อนไปใต้ลูกแล้วเตะให้ลูกโด่งขึ้นจากพื้น

สำหรับการรับบอลต้องคอยดูจังหวะของเพื่อนในทีมให้ดีแล้วใช้เท้าหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายในการรับบอล แต่ต้องระวังไม่ให้ลูกโดนมือและแขน เพราะจะทำให้ผิดกติกาได้

  • ทักษะการเดาะบอล

การเดาะบอลสามารถใช้ร่างกายได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น การใช้หลังเท้าเดาะลูกบอล ที่ต้องย่อเข่าเล็กน้อยเพื่อทรงตัวและควบคุมลูก หรือการใช้หน้าขาที่ต้องยกขาให้ตั้งฉาก 90 องศา จัดลำตัวให้ตรง และควบคุมลูกบอลให้ดี หรือการใช้ศีรษะในการเดาะบอล โดยใช้หน้าผากเป็นจุดสัมผัสลูกบอล เป็นต้น

  • ทักษะการโหม่ง

การโหม่งเป็นหนึ่งในทักษะการเล่นฟุตซอล ที่ใช้หน้าผากสัมผัสกับลูกบอล เพื่อเป็นจุดรับแรงปะทะกับลูกบอล โดยมีจุดประสงค์ในการโหม่ง 3 แบบ คือ โหม่งให้ลูกโด่ง โหม่งระดับอก และโหม่งลงพื้น โดยขณะที่โหม่งต้องลืมตามองลูกอยู่ตลอด เกร็งคอ และใช้การบิดลำตัวเพื่อเปลี่ยนทิศทาง นอกจากนี้ สามารถใช้เข่าและการโยกตัวเพื่อเพิ่มแรงในการโหม่งลูกได้อีกด้วย

  • ทักษะการยิง

การยิงลูกนั้นสามารถทำได้หลากลายรูปแบบ ทั้งการใช้หลังเท้า ข้างเท้าด้านใน หรือด้านนอก แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้หลังเท้าเพราะทำให้ลูกพุ่งแรง

 

สิ่งที่ควรรู้-ก่อน-เล่นฟุตซอล

กฎกติกาเบื้องต้นและสิ่งที่ควรรู้ก่อนเล่นฟุตซอล

เมื่อได้เรียนรู้ทักษะการเล่นฟุตซอลในรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว ก่อนจะเล่นฟุตซอลก็ต้องเข้าใจเรื่องฟุตซอลในทุกๆ ด้านอย่างครบถ้วน จะได้สนุกไปกับเกม ซึ่งมีดังต่อไปนี้ 

  • ระยะเวลาในการแข่งฟุตซอล

ระยะเวลาในการแข่งขันฟุตซอลจะแบ่งออกเป็นครึ่งแรกและครึ่งหลัง ครึ่งละ 20 นาที รวมเป็น 40 นาที โดยมีเวลาให้หยุดพักระหว่างครึ่งนานครั้งละ 10 นาที นอกจากนี้ แต่ละทีมยังสามารถขอเวลานอกได้ครึ่งละไม่เกิน 1 นาที โดยขอได้เพียงครึ่งละ 1 ครั้งเท่านั้น หากไม่ได้ใช้เวลานอกในครึ่งแรกไม่สามารถทบมาใช้ในครึ่งหลังได้ 

  • จำนวนผู้เล่นฟุตซอล

จำนวนผู้เล่นฟุตซอลในแต่ละทีมมีได้ไม่เกินทีมละ 12 คน โดยแบ่งเป็นผู้ลงเล่น 5 คน หนึ่งในนั้นจะต้องมีผู้รักษาประตู 1 คน และอนุญาตให้มีผู้เล่นสำรองได้ไม่เกิน 7 คน ทั้งนี้ สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นเมื่อใดก็ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้เล่นที่เปลี่ยนออกไปแล้วก็สามารถกลับเข้าไปเล่นใหม่ได้เช่นกัน

  • การนับประตู

การนับประตูจะนับเมื่อบอลทั้งลูกผ่านเส้นประตูที่อยู่ระหว่างเสาทั้งสองข้าง ซึ่งอยู่ใต้คานประตู โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เล่นจะต้องไม่ทำผิดกติกาการแข่งขัน โดยผู้เล่นและผู้รักษาประตูฝ่ายรุกไม่สามารถทำประตูได้ด้วยมือและแขน สำหรับทีมใดที่ทำคะแนนได้มากกว่าก่อนจบการแข่งขันก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะไป แต่หากทั้งสองทีมทำประตูได้เท่ากันหรือทำประตูไม่ได้เลยสักทีมก็จะถือว่า เสมอกัน ซึ่งจะต้องยิงลูกโทษเพื่อตัดสินหาผู้ชนะ

 

วิธี-การเล่น-ฟุตซอล

วิธีการเล่นฟุตซอล

นอกจากทักษะการเล่นฟุตซอลที่ต้องเรียนรู้ ทั้งการการรับ - ส่งบอล และการเลี้ยงลูกบอลแล้ว วิธีการเล่นฟุตซอลยังเป็นเทคนิคที่ผู้เล่นควรที่จะต้องศึกษาเพื่อช่วยให้การเล่นสนุกขึ้น และช่วยเพิ่มความแม่นยำในการยิงหรือควบคุมลูก ซึ่งวิธีการเล่นฟุตซอลมีดังนี้

  • สร้างความคุ้นเคยกับลูกฟุตซอล

ไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไรก็ตาม จำเป็นต้องสร้างความคุ้นเคยกับอุปกรณ์นั้นๆ ให้มากที่สุด เพราะเมื่อใช้งานจริงจะได้ใช้ได้อย่างถนัดและคล่องแคล่ว สำหรับกีฬาฟุตซอล การสร้างความคุ้นเคยกับบอลช่วยให้ผู้เล่นครอบครองบอลได้ง่ายขึ้น รวมถึง สามารถควบคุมบอลไปในทิศทางต่างๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้นอีกด้วย 

  • การหยุดหรือบังคับลูกฟุตซอล

การหยุดบอลเป็นทักษะการเล่นฟุตซอลอย่างหนึ่ง ที่ต้องหยุดลูกบอลที่เพื่อนในทีมส่งมาให้ หรือลูกบอลที่แย่งมาจากฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นลูกเรียด ลูกโด่ง หรือลูกที่ลอยอยู่กลางอากาศ โดยใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายในการหยุดบอล เช่น การใช้ฝ่าเท้า การใช้เท้าด้านใน การใช้ข้างเท้าด้านนอก การใช้เข่าหรือหน้าขา การใช้หลังเท้า และการใช้หน้าอก เป็นต้น

  • การทรงตัว

การทรงตัวหรือการสร้างบาลานซ์ เป็นการควบคุมร่างกายให้ตั้งตรงได้ตามแรงโน้มถ่วงของโลก โดยไม่ล้มหรือโซเซได้ง่าย เป็นหนึ่งในทักษะที่ไม่ว่ากีฬาไหนก็จำเป็นต้องใช้ เพราะมีส่วนช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึง ช่วยกำหนดทิศทางในการเคลื่อนไหวได้ง่ายและรวดเร็ว 

  • การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถอยหลัง ทางซ้าย และทางขวา

การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถอยหลัง ไปทางซ้าย หรือไปทางขวาถือเป็นทักษะที่มีความจำเป็น เพราะการเล่นฟุตซอลจำเป็นต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการฝึกเคลื่อนไหวไม่ว่าจะในทิศทางใดก็ตามให้คล่องตัวอยู่เสมอ มีส่วนช่วยให้เล่นได้ดีขึ้น โดยมีวิธีการฝึกดังนี้

  1. ตามองลูกบอลอยู่เสมอ วางเท้าข้างที่ถนัดไปยังทิศทางที่จะเคลื่อนไหวก่อน แล้วค่อยเคลื่อนเท้าอีกข้างตามไปโดยเร็ว 
  2. ถ่ายเทน้ำหนักไปยังทิศทางที่จะเคลื่อนตัวไป เทคนิคสำคัญที่ช่วยให้เคลื่อนตัวเร็วขึ้น คือการใช้ปลายเท้าสัมผัสกับพื้นอยู่เสมอ

 

วิธี-การ-เล่นฟุตซอล-ผิดกติกา

วิธีการเล่นฟุตซอลที่ผิดกติกา

ไม่ว่าเกมกีฬาใดๆ ก็ย่อมต้องมีกฎและกติกาเสมอ เพื่อความสนุกและความเสมอภาคในการแข่งขัน แต่สำหรับวิธีการเล่นฟุตซอลอาจมีบางจังหวะที่เสียการควบคุม ทำให้เกิดการผิดกติกาด้วยความไม่ระมัดระวัง ซึ่งอาจทำให้ทีมนั้นๆ เสียลูกโทษได้ ดังนี้ 

  • การเตะโทษโดยตรง

การเตะโทษโดยตรงเกิดจากผู้เล่นทำผิดกติกา เมื่อกรรมการตัดสินแล้วว่าทำไปโดยขาดความระมัดระวัง หรือมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้เตะโทษโดยตรง ซึ่งความผิดที่อาจเกิดขึ้นนั้นมี 6 ข้อดังนี้

  1. เตะ
  2. ขัดขา
  3. กระโดดเข้าใส่ฝั่งตรงข้าม
  4. ชน ไม่ว่าจะเป็นการชนไหล่หรือชนทั้งตัว
  5. ทำร้ายคู่ต่อสู่
  6. ผลัก

นอกจากนี้ หากผู้เล่นมีการดึงคู่ต่อสู้ ถ่มน้ำลายใส่ การพุ่งตัวไปแย่งบอล หรือเล่นลูกบอลด้วยมือ โดยมีเจตนา ก็สามารถเตะโทษโดยตรงได้เช่นกัน

  • การเตะโทษโดยอ้อม

การเตะโทษโดยอ้อมเกิดจากผู้รักษาประตูทำผิดในเขตโทษของตนเอง จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้เตะลูกโทษ ดังนี้

  1. ลูกฟุตซอลอยู่ในมือนานเกิน 6 วินาทีก่อนปล่อย
  2. จับลูกฟุตซอลอีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยลูกแล้ว และลูกยังไม่ได้สัมผัสกับผู้เล่นคนอื่น
  3. สัมผัสลูกฟุตซอลด้วยมือ หลังจากผู้เล่นฝ่ายเดียวกันเจตนาส่งมาให้
  4. สัมผัสลูกฟุตซอลด้วยมือ หลังจากผู้เล่นฝ่ายเดียวกันตั้งใจทุ่มบอลให้

นอกจากนี้ ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามก็สามารถได้เตะโทษโดยอ้อมเช่นกัน เมื่อกรรมการเห็นว่าผู้เล่นทำผิดดังนี้

  1. เล่นในลักษณะที่เป็นอันตราย
  2. ตั้งใจขวางการไปข้างหน้าของผู้เล่นทีมตรงข้าม
  3. ป้องกัน ขัดขวางผู้รักษาประตูไม่ให้ปล่อยบอลออกจากมือ

ทั้งนี้ การเตะโทษโดยอ้อมนั้น จะเตะในจุดที่เกิดการกระทำผิด

 

ประโยชน์-ของ-การ-เล่นฟุตซอล

ประโยชน์ของการเล่นฟุตซอล

หลายๆ คนอาจทราบดีอยู่แล้วว่าการเล่นกีฬานั้นมีประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและจิตใจ สำหรับกีฬาฟุตซอลมีประโยชน์ ดังต่อไปนี้ 

  • มีไหวพริบที่ดี

กีฬาฟุตซอลเป็นกีฬาที่เล่นกันเป็นทีม แม้ว่าจะมีการวางแผนวิธีการเล่นฟุตซอลมาก่อนแล้ว แต่เมื่อเจอทีมฝั่งตรงข้าม แผนการเล่นที่วางไว้อาจไม่สามารถทำประตูให้กับทีมได้ ดังนั้น การเล่นฟุตซอลจึงช่วยให้มีไหวพริบตลอดเวลา รู้ว่าควรแก้เกมอย่างไร และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว กล่าวคือ กีฬาฟุตซอลมีส่วนช่วยฝึกให้ผู้เล่นมีไหวพริบที่ดี แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

  • ระบบต่างๆ ภายในร่างกายดีขึ้น

การเล่นฟุตซอลช่วยให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวหลายส่วน จึงมีส่วนช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายและเสริมให้มีความแข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้ การเล่นฟุตซอลยังช่วยให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ระบบกล้ามเนื้อ ระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด และระบบขับถ่าย เป็นต้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย 

  • ได้รับโอกาสต่างๆ 

นอกจากช่วยให้มีไหวพริบที่ดีและระบบต่างๆ ภายในร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้ว การเล่นฟุตซอลยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเป็นตัวแทนของจังหวัด หรืออาจเป็นตัวแทนระดับประเทศ จนสามารถเล่นเป็นอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองได้เลยทีเดียว 


ฟุตซอล เป็นกีฬาที่กำลังได้รับความนิยม สามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยจะต้องทำความเข้าใจกับวิธีการเล่น และอาศัยการฝึกซ้อมบ่อยๆ ซึ่งทักษะการเล่นฟุตซอลนั้นจะช่วยเสริมให้การเล่นหรือการแข่งขันสามารถทำได้ง่ายขึ้น และถ้าหากคุณกำลังมองหาพื้นที่สำหรับเล่น หรือฝึกซ้อมกีฬาฟุตซอล สามารถมาได้ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา Activity Center แหล่งพบปะของคนรักสุขภาพ ด้วยศูนย์ออกกำลังกายหลายรูปแบบ รวมถึง The Street Arena ลานกีฬาทันสมัยใจกลางเมือง ที่พร้อมให้ทุกคนได้มาสนุกอย่างเต็มที่

 

Related