คู่มือทำธุรกิจสำหรับมือใหม่ อยากเปิดร้านอาหารต้องทำอะไรบ้าง?
ไม่มีกำหนดอายุ

คู่มือทำธุรกิจสำหรับมือใหม่ อยากเปิดร้านอาหารต้องทำอะไรบ้าง?

การเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นไม่ยาก แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้นยากพอสมควร สำหรับมือใหม่ที่อยากลงทุนทำธุรกิจ อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่ยังไม่รู้ว่าจะขายของออนไลน์อะไรดีหรือลงทุนทำธุรกิจอะไร บทความนี้จะขอนำเสนอไอเดียเปิดร้านอาหารเล็กๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่กำลังมาแรง มาดูกันว่าการเปิดร้านอาหารต้องทำอะไรบ้างและมีขั้นตอนต่างๆ อย่างไร


สารบัญ คู่มือทำธุรกิจสำหรับมือใหม่ อยากเปิดร้านอาหารต้องทำอะไรบ้าง?


เตรียมเงินทุนในการเปิดร้านอาหาร

1. เตรียมเงินทุนในการเปิดร้านอาหารให้พร้อม

ไม่ว่าจะทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม “เงินทุน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจ ต้องทราบว่าจะใช้เงินเท่าไร ใช้ทำอะไรบ้าง เพื่อใช้เงินลงทุนให้ถูกต้องเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด การเปิดร้านอาหารก็เช่นกัน ต้องคำนวณและเตรียมเงินทุนให้พร้อม หลักการง่ายๆ ในการคำนวณคือ 100 % ของเงินลงทุน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • 14% เป็นค่าใช้จ่ายในตกแต่งอาคารสถานที่ให้ดูสวยงาม ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้งานต่างๆ 
  • 10% ต่อมาคือเงินลงทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์และเครื่องครัวต่างๆ เช่น จาน ถ้วย ช้อนส้อม แก้วน้ำ หม้อ กระทะ เตาแก๊ส ตู้เย็น หรือตู้แช่ เป็นต้น 
  • 76 % คือเงินทุนหมุนเวียน ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายซื้อวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายฉุกเฉินอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงเรื่องการคืนทุนด้วย โดยใช้สูตรคำนวณหาอัตราผลตอบแทนการลงทุน ROI หรือ Return on Investment ดังนี้ ROI = (กำไรสุทธิ/เงินลงทุน) x 100

ยกตัวอย่าง มีงบประมาณการลงทุนทั้งหมด 1,000,000 บาท มีรายได้ต่อเดือนคร่าวๆ 100,000 บาท หักต้นทุนขายและค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าจิปาถะต่างๆ ออก เหลือกำไรสุทธิประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน รวมเป็นกำไรต่อปี 480,000 บาทต่อปี จากตัวอย่างจะพบว่า ROI = (480,000/1,000,000) x 100 = 48 % ต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับใครที่สงสัยว่า อัตราผลตอบแทนการลงทุนเท่าไหร่ถึงจะอยู่ในเกณฑ์ดีหรือแย่? ในความเป็นจริง ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ของค่า ROI ที่ตายตัว แต่จะให้ขึ้นอยู่กับความพึ่งพอใจของเจ้าของธุรกิจ กล่าวคือ หากคุณรู้สึกว่าค่า ROI ที่คำนวณได้ยังไม่เป็นที่พอใจ คุณจำเป็นที่จะต้องเพิ่มรายได้ และลดต้นทุนลง เป็นต้น

หากคิดระยะเวลาคืนทุน ใช้สูตร ระยะเวลาคืนทุน = จำนวนเงินลงทุน /กำไรสุทธิ 

จากตัวอย่างก็จะเป็น ระยะเวลาคืนทุน = 1,000,000/480,000 = 2.08 หรือก็คือใช้เวลาคืนทุนประมาณ 2 ปี 

เขียนแผนธุรกิจร้านอาหาร

2. เขียนแผนธุรกิจก่อนเสมอ

อีกสิ่งหนึ่งขั้นตอนที่ควรทำในการเปิดร้านอาหาร คือ การเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแนวทางที่ได้วางแผนเอาไว้ เป็นตัวช่วยให้ประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นระบบ เพราะจะทำให้มองเห็นภาพรวมของธุรกิจ มองเห็นช่องทางการเติบโต และลดภาระในด้านบริหารจัดการงานและการแก้ไขปัญหา

โดยขั้นตอนการเขียนแผนธุรกิจ มีดังนี้

  • แนวคิดหลักในการทำธุรกิจ: ประกอบด้วยภาพรวม เป้าหมาย กลยุทธ์ และผลที่คาดว่าจะได้รับ เป็นส่วนที่สำคัญมากในแผนธุรกิจ
  • ความเป็นมาของธุรกิจ: อธิบายลักษณะธุรกิจ แนวทางในการพัฒนา และข้อมูลต่างๆ เช่น ความเป็นมา หุ้นส่วน ที่อยู่
  • วิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาส: วิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดอ่อน ความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
  • แผนการตลาด: กลยุทธ์ในการทำการตลาด การสื่อสารการตลาด และวิธีการเข้าถึงลูกค้า
  • แผนการดำเนินงาน: ระบุขั้นตอนการดำเนินงานอย่างละเอียด ประกอบด้วยการผลิต การบริหาร การจัดส่ง และการบริการ
  • แผนการเงิน: รายละเอียดเกี่ยวกับเงินทั้งหมด เงินในการลงทุน ทั้งรายได้ ผลตอบแทน ระยะเวลาในการคืนทุน เป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่ง เพราะสร้างความน่าเชื่อถือต่อสถาบันเงินทุนได้
  • แผนรับมือฉุกเฉิน: เป็นการวางแผนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยทางธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจ โรคระบาด เป็นต้น

ออกแบบคอนเซปต์ร้านอาหาร

3. สร้างคอนเซปต์ร้านให้น่าจดจำ

เมื่อคิดจะเปิดร้านอาหาร การสร้างคอนเซปต์ร้านให้มีความชัดเจนตั้งแต่แรกจะดีที่สุด เพราะช่วยให้วางแผนขั้นตอนการเปิดร้านอาหารขั้นต่อไปง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การจัดสรรงบประมาณลงทุน สไตล์การตกแต่งร้าน บรรยากาศภายใน-ภายนอกร้าน ยูนิฟอร์มพนักงาน รูปแบบการให้บริการ การออกแบบเมนูอาหาร การตกแต่งจานอาหาร รวมไปถึง การกำหนดราคา เป็นต้น 

ร้านที่กำหนดคอนเซปต์ของตัวเองจะง่ายต่อการจดจำและนำไปสู่การสร้างแบรนด์ ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ร้านอาหารมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมั่นคง

การเลือกทำเลร้าน

4. เลือกทำเลให้ปัง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

อีกขั้นตอนการเปิดร้านอาหารที่ขาดไม่ได้เลย คือ การเลือกทำเลที่ตั้ง หากเลือกทำเลผิดชีวิตเปลี่ยน เพราะไม่เอื้ออำนวยต่อลูกค้าที่จะมาร้าน ต่อให้อร่อยแค่ไหน ก็จะทำให้ไม่เกิดการบอกต่อ ดังนั้น ควรเปิดร้านอาหารในทำเลที่เหมาะสม เพื่อโอกาสในการประสบความสำเร็จที่เพิ่มมากขึ้น

เลือกทำเลใกล้แหล่งชุมชน

แหล่งชุมชน เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนสัญจรผ่านไปมามากที่สุด การเลือกเปิดร้านอาหารใกล้แหล่งชุมชน จะทำให้มีคนเห็นร้านได้อย่างชัดเจนสะดุดตา เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะมีลูกค้าหน้าใหม่เข้าร้านมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงร้านได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 

รถสาธารณะเข้าถึงง่าย

ยิ่งมีวิธีการเดินทางมาถึงร้านได้ง่ายและหลากหลาย ก็จะยิ่งช่วยให้ร้านอาหารมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะการเดินทางที่สะดวกสบาย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเลือกตัดสินใจที่จะมาใช้บริการ เพียงโดยสารรถสาธารณะ ไม่ต้องเดินทางลำบาก และไม่ทำให้ต้นทุนมื้ออาหารของลูกค้าสูงขึ้นจากค่าเดินทาง 

เป็นทำเลที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

ในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละชุมชน มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารและกำลังในการเลือกซื้อที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนเลือกทำเลที่ตั้งร้านอาหารจึงต้องคำนึงถึงและศึกษากลุ่มเป้าหมายของร้านด้วย จำเป็นต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร พื้นที่ทำเลนั้นมีกลุ่มเป้าหมายอาศัยอยู่หรือไม่ และมีจำนวนมากพอต่อความสำเร็จของร้านที่ต้องการหรือเปล่า 

ยกตัวอย่างเช่น หากเลือกทำเลเปิดร้านอาหารเล็กๆ ใกล้มหาวิทยาลัย กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มักจะเป็นนิสิตหรือนักศึกษาบริเวณนั้น หากอาหารมีราคาที่สูงเกินไป อาจจะมีลูกค้าไม่มาก เป็นต้น

หาแหล่งวัตถุดิบเปิดร้านอาหาร

5. สืบเสาะหาแหล่งวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ

การเปิดร้านอาหารก็ต้องมี “วัตถุดิบ” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการประกอบอาหารของร้านค้า จำเป็นต้องใส่ใจเลือกสรรวัตถุดิบที่ได้คุณภาพ สด สะอาด ไปพร้อมกับการคำนึงถึงราคาและต้นทุน เพื่อให้ลูกค้าได้รับอาหารที่ดีที่สุด รวมไปถึงช่วยทำกำไรให้ร้านด้วย 

ถ้าสามารถคำนวณและวางแผนจัดการต้นทุนการจัดซื้อวัตถุดิบได้อย่างเป็นระบบ จะช่วยให้ได้วัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ ในราคาสมเหตุสมผล และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

ออกแบบร้านอาหารให้สวยงาม

6. ออกแบบร้านอาหารที่สวยงาม บรรยากาศดี

อีกขั้นตอนการเปิดร้านอาหารที่สำคัญ คือ การออกแบบร้านอาหารให้มีความสวยงาม โดดเด่น นอกจากจะสร้างบรรยากาศที่ดีในร้านแล้ว ยังช่วยบอกเล่าคอนเซปต์ร้านและมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าอีกด้วย

ออกแบบร้านให้มี Storytelling

การออกแบบร้านแบบมี Storytelling ที่ใส่อารมณ์ และความรู้สึก จะทำให้มีความน่าสนใจ เพราะเป็นการบอกเล่าคอนเซปต์ร้าน สร้างภาพลักษณ์ และบุคลิกของร้าน ทั้งยังมีอิทธิพลเข้าถึงอารมณ์ต่างๆ ของลูกค้า ช่วยสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องกับอาหารได้ดีขึ้น

วางผังร้านให้ใช้งานง่าย

การวางแผนผังร้านที่ดี นอกจากต้องคำนึงถึงความสวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำเป็นต้องคำนวณพื้นที่ใช้งานในแต่ละส่วนให้เหมาะสมอีกด้วย เช่น สัดส่วนของโต๊ะอาหาร ทางเดินภายในร้าน เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการใช้งานของทุกฝ่าย พนักงานทำงานได้ง่าย และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า

ตกแต่งภายในให้สวยงาม

การตกแต่งภายในร้านอาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสื่อถึงตัวตนของร้านและช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ โดยการตกแต่งควรตอบโจทย์กับเอกลักษณ์ของร้าน ทั้งการเลือกเฟอร์นิเจอร์ การเลือกแสงไฟในร้าน การจัดวางตำแหน่งต่างๆ ซึ่งจะทำให้ออกมาเป็นร้านอาหารที่มีความสมบูรณ์สวยงาม และสร้างบรรยากาศของร้านได้เป็นอย่างดี เช่น ถ้าคอนเซปต์เป็นร้านอาหารเล็กๆ ที่ให้บรรยากาศอบอุ่นแบบครอบครัว สามารถตกแต่งร้านภายในด้วยสไตล์คอทเทจ (Cottage) โดยใช้โต๊ะไม้ เฟอร์นิเจอร์สีขาว และใช้ไฟสีวอล์มไวท์ หรือคลูไวท์ เป็นต้น

ออกแบบพื้นที่ระบบหลังร้านให้ทำงานง่าย

การออกแบบพื้นที่ระบบหลังร้านที่ดี จะช่วยทำให้พนักงานทำงานได้สะดวก ควบคุมการทำงานได้ง่าย เพราะมีการวางระบบหลังร้าน แบ่งเป็นโซนห้องครัว พื้นที่เก็บของและวัตถุดิบให้ชัดเจน ควรออกแบบพื้นที่ให้กว้างเพียงพอ โดยวัดขนาดทางเดิน ขนาดตู้เก็บวัตถุดิบ รวมไปถึง การวางระบบน้ำไฟ ระบายอากาศ การดูดกลิ่นต่างๆ ให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน

ขอใบอนุญาตเปิดร้านอาหาร

7. จดทะเบียนขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย

อีกหนึ่งขั้นตอนในการเปิดร้านอาหารที่ไม่ควรมองข้าม คือ การจดทะเบียนขอใบอนุญาตต่างๆ ให้ถูกต้อง ซึ่งมีหลักๆ อยู่ 2 ใบอนุญาต คือ จดทะเบียนพาณิชย์ และ ใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหารและสะสมอาหาร ใช้เอกสารดังต่อไปนี้

จดทะเบียนพาณิชย์ ธุรกิจร้านอาหารต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่เริ่มกิจการ

  • แบบ ทพ.
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • กรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน แนบเอกสารเพิ่มเติม
  • หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่
  • สำเนาสัญญาเช่าสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่
  • แผนที่แสดงสถานที่ใช้ประกอบธุรกิจ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง
  • หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

ใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหารและสะสมอาหาร ขออนุญาตในกรณีร้านมีขนาดเกิน 200 ตารางเมตรขึ้นไป

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับใบอนุญาต
  • สำเนาทะเบียนบ้านของบ้านที่ใช้เป็นที่ตั้ง
  • หนังสือยินยอมให้ใช้อาคารหรือสำเนาหนังสือสัญญาเช่าจากเจ้าของอาคาร
  • หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเอง)
  • ผลการตรวจสุขภาพหรือใบรับรองแพทย์ของพนักงานผู้สัมผัสอาหาร
  • สำเนาใบวุฒิบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของกรุงเทพมหานคร (ถ้ามี)
  • แผนที่แสดงสถานที่ตั้งสถานประกอบการ
  • ใบอนุญาตจากส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

สำหรับใครที่มีไอเดียเปิดร้านอาหารเล็กๆ และกำลังหาข้อมูลว่าเปิดร้านอาหารต้องทําอะไรบ้าง คงได้รู้กันแล้วว่าขั้นตอนการเปิดร้านอาหารนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมเงินทุน การเขียนแผนธุรกิจ หาทำเลที่เหมาะสมสร้างคอนเซปต์ร้านให้น่าสนใจ หรือแม้กระทั่งการออกแบบ ตกแต่งร้าน รวมถึง การจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย การเริ่มต้นเปิดร้านอาหารอาจจะดูมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและวุ่นวาย แต่หากมีการวางแผนที่ดีก็จะช่วยทำให้ร้านมีความแตกต่าง และสามารถประสบความสำเร็จใด้อย่างแน่นอน สำหรับใครที่กำลังมองหาสถานที่สำหรับประชุมธุรกิจ ที่เดินทางง่าย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน สามารถมาได้ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา Activity Center แหล่งรวมพื้นที่นั่งทำงานตอนกลางคืน และคาเฟ่ร้านกาแฟที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึง Co-Working และ Serviced Office อย่าง Workwize ที่ให้บริการทั้งพื้นที่นั่งทำงาน และห้องประชุม ตั้งอยู่โซน Health & Wellness / Beauty Service ชั้น 3

Related