พ่อค้าแม่ค้าควรรู้! ภาษีขายของออนไลน์คืออะไร ยื่นอย่างไร ไม่มีตกหล่น
ไม่มีกำหนดอายุ

พ่อค้าแม่ค้าควรรู้! ภาษีขายของออนไลน์คืออะไร ยื่นอย่างไร ไม่มีตกหล่น

จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล รวมกับเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน ทำให้อาชีพขายของออนไลน์กลายเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอาชีพหนึ่ง เพราะสามารถช่วยสร้างรายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังไม่ต้องออกจากงานประจำก็สามารถทำได้ ที่สำคัญการเริ่มต้นขายของออนไลน์ก็สามารถทำได้ง่าย แต่สิ่งสำคัญที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ไม่ควรหลีกเลี่ยงหรือมองข้ามนั่นก็คือ การจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ และการจ่ายภาษีขายของออนไลน์ ซึ่งหลายคนอาจไม่เข้าใจวิธีคำนวณภาษีและทำให้มองข้ามความสำคัญไปได้ ฉะนั้นคำถามที่ว่าภาษีออนไลน์มีกี่ประเภท? มีขั้นตอนการยื่นอย่างไร? และการคำนวณภาษีคิดอย่างไร? บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษีแม่ค้าออนไลน์มาไว้แล้ว ไปดูกันเลย !


สารบัญ พ่อค้าแม่ค้าควรรู้! ภาษีขายของออนไลน์คืออะไร ยื่นอย่างไร ไม่มีตกหล่น


ภาษีขายของออนไลน์คืออะไร

ภาษีขายของออนไลน์คืออะไร รายได้เท่าไหร่ที่ต้องเสียบ้าง?

ภาษีเป็นรายได้ของประเทศ และการจ่ายภาษีถือเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้ที่มีรายได้ทุกคน แม้ว่ารายได้นั้นจะถึงหรือไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม แน่นอนว่ารวมถึงรายได้จากการขายของออนไลน์ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าหลายคนเข้าใจผิดว่าการขายของออนไลน์ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี โดยภาษีของการขายของออนไลน์จะนับเป็นภาษีเงินได้จากการค้าขาย มีการแบ่งการคำนวณเป็น 2 ประเภท คือ

บุคคลธรรมดา

ภาษีที่จัดเก็บจากพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป ที่มีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา กรณีมีรายได้จากการขายของออนไลน์ 60,000 บาทต่อปีขึ้นไป จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่หากยื่นภาษีขายของออนไลน์แล้วมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะมีโอกาสที่ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

นิติบุคคล 

ภาษีที่จัดเก็บจากร้านค้าที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญ มีฐานะเป็นนิติบุคคล กรณีมีรายได้จากการขายของออนไลน์ จะต้องเสียภาษีโดยหักจากค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น เจ้าของร้านต้องเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ และจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นตรวจสอบภาษีด้วย

ขายของออนไลน์ต้องยื่นภาษีเมื่อไหร่

การยื่นภาษีขายของออนไลน์ กรณีเป็นบุคคลธรรมดา และกรณีนิติบุคคลจะมีช่วงเวลาที่ต้องยื่นแสดงภาษีแตกต่างกันไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด 

บุคคลธรรมดา

กรณีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา จะต้องทำการยื่นภาษีปีละ 2 รอบ คือ ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด. 90

  • ภ.ง.ด. 94 (ยื่นภาษีครึ่งปี)

ภ.ง.ด. 94 จะยื่นภาษีในช่วงกรกฎาคม – กันยายนของทุกปี ทำการสรุปรวมรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อนำมาแสดงและยื่นในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94 เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน มีรายได้ทั้งหมดเท่าไร จะต้องสรุปและยื่นแสดงภาษีภายในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน

  • ภ.ง.ด. 90 (ยื่นภาษีสิ้นปี)

จะยื่นภาษีในช่วงมกราคม – มีนาคมของทุกปี ทำการสรุปรวมรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยกรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 เช่น ปี 2565 มีรายได้ทั้งหมดเท่าไร จะต้องสรุปและยื่นภายในเดือนมีนาคม ปี 2566

นิติบุคคล

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท มีฐานะเป็นนิติบุคคล จะต้องทำการยื่นเสียภาษีปีละ 2 รอบ คือ ภ.ง.ด. 51 และ ภ.ง.ด. 50

  • ภ.ง.ด. 51 (ยื่นภาษีครึ่งปี)

จะยื่นภาษีในช่วงกรกฎาคม – สิงหาคมของทุกปี จะต้องสรุปรวมรายได้ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน มาแสดงยื่นในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 51 ภายในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน

  • ภ.ง.ด. 50 (ยื่นภาษีสิ้นปี)

จะยื่นภาษีในช่วงพฤษภาคมของทุกปี เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งตลอดปี และยื่นแสดงในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 50 ซึ่งจะต้องทำการยื่นภายในเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป เช่น รายได้ทั้งหมดของปี 2565 จะต้องสรุปและยื่นภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2566

ภาษีออนไลน์มีวิธีการคิดและคำนวณอย่างไร

ภาษีขายของออนไลน์ จะมี 2 แบบ คือ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอัตราภาษีเงินได้แบบนิติบุคคล ภาษีทั้ง 2 แบบนี้มีวิธีคิดและคำนวณแตกต่างกันไป ในกรณีที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ จะนำค่าลดหย่อนไปคำนวณด้วยเช่นกัน ซึ่งการลดหย่อนภาษี คือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กรมสรรพากรประกาศให้นำมาคำนวณหักลบกับรายได้และค่าใช้จ่าย เพื่อคำนวณหารายได้สุทธิก่อนนำไปเทียบตารางอัตราภาษีของแต่ละแบบ

บุคคลธรรมดา

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีสูตรคำนวณคือ

(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) X อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

เป็นการหารายได้สุทธิ หลังหักจากค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน แล้วนำมาเทียบกับตารางอัตราภาษี ซึ่งเป็นการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได สูงสุดอยู่ที่ 35% สูตรคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจุดสำคัญอยู่ที่ ค่าใช้จ่ายที่สามารถคำนวณได้ 2 แบบ ดังนี้

  • หักค่าใช้จ่ายตามจริง

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ผลิตสินค้าเองหรือมีต้นทุนสินค้าสูง วิธีนี้จะต้องรวบรวมเอกสาร หลักฐานต่างๆ บัญชีรายรับรายจ่ายให้ครบถ้วน เพื่อใช้ตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่หักตามจริง และเมื่อนำไปยื่นภาษีจะได้ไม่เกิดความสับสน

  • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ของเงินได้

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ได้กำไรเยอะหรือดำเนินการแบบซื้อมา ขายไป ไม่ได้มีการผลิตสินค้าเอง ซึ่งข้อดีของวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายแบบนี้ คือ ไม่ต้องแสดงเอกสาร หลักฐานค่าใช้จ่ายใดๆ ให้แก่กรมสรรพากร และพ่อค้าแม่ค้าจะได้รับประโยชน์ทางภาษีจากส่วนต่างของต้นทุนที่แท้จริงกับค่าใช้จ่ายที่คำนวณแบบเหมา

นิติบุคคล

การคำนวณภาษีเงินได้ของนิติบุคคล จะเริ่มจากหากำไรสุทธิ ดังนี้

รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไร/ขาดทุน

โดยการคำนวณค่าใช้จ่ายจะหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงเท่านั้น จึงต้องมีการเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ และจัดเตรียมบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ให้พร้อมในการตรวจสอบยื่นภาษี หากมีรายจ่ายตรงตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายกำหนด จะสามารถนำไปคำนวณเพื่อเป็นการลดหย่อนภาษีได้ ต่อมาเมื่อได้กำไรสุทธิแล้ว นำกำไรสุทธิมาคูณกับอัตราภาษี ซึ่งหากเป็นธุรกิจ SME ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้จากการขายสินค้าตลอดทั้งปี (ตามรอบระยะเวลาบัญชี) ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะเสียภาษีตามตารางอัตราภาษีแบบขั้นบันได คือ

  • กำไรไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับการยกเว้น
  • กำไร 300,000 – 3,000,000 บาทขึ้นได้ เสียภาษี 15%
  • กำไร 3,000,000 บาทขึ้นได้ เสียภาษี 20%

ส่วนธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) จะมีอัตราภาษีคงที่ 20% ของกำไรสุทธิตั้งแต่บาทแรก 

เอกสารที่ต้องเตรียมในการยื่นภาษีขายของออนไลน์

สำหรับการยื่นภาษีของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มีเอกสารที่ต้องจัดเตรียมไว้ในพร้อม ดังนี้

บุคคลธรรมดา

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94 / แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90
  • เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง ตามมาตรา 50 ทวิ
  • เอกสารแสดงรายการลดหย่อนภาษีกลุ่มต่างๆ เช่น
    • ทะเบียนสมรส/ใบสูติบัตรบุตร
    • ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ
    • ใบเสร็จรับรองการซื้อกองทุน RMF/SSF/SSFX
    • หนังสือรับรองดอกเบี้ยกู้ยืมจากธนาคาร
    • หลักฐานการบริจาค 
  • เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น
    • บัญชีรายรับ - รายจ่าย
    • ใบเสร็จรับเงินค่าวัตถุดิบหรือสินค้าที่ซื้อมาเพื่อจำหน่าย

นิติบุคคล

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 51 / แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 50
  • เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง ตามมาตรา 50 ทวิ
  • เอกสารงบการเงิน เช่น
    • งบกำไรขาดทุน
    • งบแสดงฐานะการเงิน
    • งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ
    • หมายเหตุประกอบงบการเงิน
    • รายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ยื่นภาษีขายของออนไลน์มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

  1. จดบันทึกรายการซื้อ-ขายสินค้า และทำบัญชีรายรับรายจ่ายในทุกวัน เพื่อบริหารจัดการการเงินได้สะดวกและตรวจสอบได้รวดเร็ว
  2. เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเอกสารเกี่ยวข้องกับการค้า ธุรกรรมการทางเงิน เพื่อตรวจสอบบัญชีได้อย่างถูกต้อง และเป็นหลักฐานว่ามีการดำเนินการธุรกรรมจริง
  3. คอยติดตามข่าวสารทางการเงินและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีเป็นประจำ เพราะในแต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้ การรู้ทันข้อมูลข่าวสารจะทำให้จัดการภาษีและการเงินได้อย่างเหมาะสม

พ่อค้าแม่ค้าสามารถยื่นภาษีขายของออนไลน์ในช่องทางไหนได้บ้าง

  • ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร

กรอกแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. แล้วจัดเตรียมเอกสารยื่นภาษีที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยื่นภาษีด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ

  • ยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์

เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งการยื่นภาษีขายของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์จะมีความสะดวกรวดเร็ว และยังมีการขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้ช้าออกไปกว่าการยื่นด้วยตัวเองที่กรมสรรพากรอีกด้วย

สรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการขายของออนไลน์

ตามกฎหมายมีการรองรับให้สถาบันทางการเงินต้องส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเพย์เมนต์ (e-Payment) ให้กับทางสรรพากรตรวจสอบ หากบัญชีนั้นเข้าข่ายเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ

  • เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่าจะยอดรวมจะเป็นกี่บาทก็ตาม
  • เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดรวมกันมากกว่า 2 ล้านบาท

ซึ่งกฎหมายพรบ.นี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 

รวมตัวช่วย คิดคำนวณภาษีขายของออนไลน์ สำหรับพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ที่กำลังกังวลว่าจะคำนวณภาษีผิดพลาด หรือตกหล่นส่วนไหนไปหรือเปล่า ไม่ต้องกังวล เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาเป็นตัวช่วยในการคิดคำนวณภาษีขายของออนไลน์ให้กับพ่อค้าแม่ค้าแล้ว

  • RD Smart Tax แอปพลิเคชันของกรมสรรพากรที่เปิดให้บริการยื่นแบบและชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นแบบภาษีได้ง่ายขึ้น รองรับช่องทางการยื่นแบบที่หลากหลาย สามารถติดตามข่าวสารของกรมสรรพากรได้ง่าย สะดวกใช้ในทุกที่ ทุกเวลา
  • เว็บไซต์คำนวณภาษีของธนาคาร มีหลายธนาคารที่ได้ออกแบบเว็บไซต์มารองรับและช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในการคำนวณภาษี ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของการใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ
  • iTAX Pro แอปพลิเคชันคำนวณและวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เกิดจากงานวิจัยปริญญาเอกของ ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร หน้าตาแอปพลิเคชันมีดีไซน์สวยงามเรียบง่าย เน้นการใช้งานที่เข้าใจได้ทันที ช่วยลดขั้นตอนการคำนวณที่ยุ่งยากได้เป็นอย่างดี

การขายของออนไลน์ เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ที่กำลังวางแผนธุรกิจออนไลน์ของตน ต้องอย่าลืมให้ความสำคัญกับภาษีขายของออนไลน์ด้วยเช่นกัน ซึ่งการยื่นภาษีแม่ค้าออนไลน์ จะแบ่งเป็นอัตราภาษีของบุคคลธรรมดาและอัตราภาษีของนิติบุคคล วิธีการคิดและคำนวณภาษีของแต่ละแบบจะแตกต่างกันไป แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็มีตัวช่วยหลายอย่างที่ลดความยุ่งยากในการคำนวณภาษี อีกทั้งยังสามารถยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย และสำหรับใครที่กำลังมองหาสินค้าเพื่อเปิดร้านขายของออนไลน์ ขอแนะนำให้แวะมาที่ศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา แหล่งรวมสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งที่นี่ยังเป็น Logistic Hub ที่มีบริษัทรับส่งของไปรษณีย์และพัสดุหลายเจ้าให้คุณได้เลือกใช้บริการได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, J&T Express, DHL Express, Flash Express และ Fastship หรือหากต้องการพื้นที่ทำงาน ที่นี่ก็มีส่วนของ Activity Center WorkWize Co-Working Space พื้นที่ในการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมกับอาชีพขายของออนไลน์ ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

Related